มาตรการ Easy e-Receipt เป็นมาตรการการขอลดหย่อนภาษีที่กรมสรรพากรนำมาทดแทนมาตรการช้อปดีมีคืนในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 (1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567) เป็นหนึ่งในมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางภาครัฐมีความคาดหวังว่า โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีของประเทศเกิดการขยายตัวและเติบโตเพิ่มมากขึ้น

Easy e-Receipt ช่วยให้ประชาชนผู้มีเงินได้ลดภาษีปี 2567 ได้อย่างไร 

นอกจากวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว โครงการ Easy e-Receipt เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อบุคคลธรรมดาผู้เสียภาษีเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากสิทธิ์การลดหย่อนภาษีโดยตรงนั่นเอง สำหรับเงื่อนไขโครงการนี้จะสามารถช่วยให้ประชาชนผู้มีเงินได้ลดภาษีปี 2567 ได้อย่างไรบ้างนั้นเราไปดูกันได้เลย 

อันดับแรกผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิ์นี้ในโครงการ Easy e-Receipt ได้ จะต้องเข้าเงื่อนไขเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และจะต้องซื้อสินค้าและบริการตามที่กำหนดไว้ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 นอกเหนือจากระยะเวลาดังกล่าวนี้จะไม่เข้าเงื่อนไขให้สามารถใช้สิทธิ์ได้  และที่สำคัญคือจะต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือการใช้บริการในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น ไม่สามารถใช้เอกสารใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษได้

สำหรับสินค้าและบริการที่สามารถซื้อได้จะต้องมียอดรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท และเป็นสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างถูกต้อง แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถซื้อจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เช่น สินค้าประเภทหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทั้งในแบบรูปเล่มและอีบุ๊ค และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) แต่จะต้องมีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนเสียก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้

ส่วนสินค้าที่ไม่เข้าข่ายให้สามารถนำใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ไปขอลดหย่อนภาษีได้ ประกอบด้วยการซื้อสินค้าและบริการประเภท

1. สุรา เบียร์ และไวน์

2. ยาสูบ

3. รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

4. น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

5.  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ต่าง ๆ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ 

6.  ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากช่วงระยะเวลา 1 
  มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 

7.  ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะลดภาษีได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอัตราฐานภาษีเดิมที่แต่ละคนต้องจ่าย ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างการคำนวณว่า ผู้เสียภาษีในแต่ละอัตราจะสามารถขอลดหย่อนและประหยัดภาษีได้เท่าไหร่กันบ้าง

– หากเป็นผู้ที่มีอัตราเสียภาษี 5% เมื่อชอปสูงสุด จำนวน 50,000 บาท จะได้เงินภาษีคืน 50,000 x 5% = 2,500 บาท 

– หากเป็นผู้ที่มีอัตราเสียภาษี 20% เมื่อชอปสูงสุด จำนวน 50,000 บาท จะได้เงินภาษีคืน 50,000 x 20% = 10,000 บาท 

– หากเป็นผู้ที่มีอัตราเสียภาษี 35% เมื่อชอปสูงสุด จำนวน 50,000 บาท จะได้เงินภาษีคืน 50,000 x 35% = 17,500 บาท 

หวังว่าจากตัวอย่างการคำนวณข้างต้นจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น ในการขอลดหย่อนภาษีในโครงการนี้ ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะทราบว่า การขอลดหย่อนภาษีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นการลดจำนวนภาษีโดยตรง 50,000 บาท เป็นแต่เพียงการขอลดหย่อนเงินได้พึงประเมินสุทธิ ซึ่งจะช่วยให้เสียภาษีลดลงได้นั่นเอง

Easy e-Receipt

ความแตกต่างระหว่างโครงการ Easy e-Receipt 2567 กับโครงการช้อปดีมีคืนที่ผ่านมา

1. โครงการ Easy e-Receipt 2567 ใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2567 ซึ่งต้องยื่นหลักฐานต้นปี 2568 ขณะที่โครงการช้อปดีมีคืน 2566 เป็นมาตรการการลดหย่อนภาษีปี 2566 และต้องยื่นหลักฐานเพื่อขอลดหย่อนต้นปี 2567 เรียกว่าเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีเหมือนกัน แค่คนละปี 

2. โครงการลดหย่อนภาษีปี 2567 ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท แต่โครงการช้อปดีมีคืน 2566 สามารถใช้ลดหย่อนได้น้อยกว่า คือ 40,000 บาท 

3. โครงการช้อปดีมีคืน 2566 ให้ใช้ใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษได้จำนวน 30,000 บาทจาก 40,000 ส่วนอีก 10,000 ที่เหลือจะต้องเป็น e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ในขณะที่โครงการลดหย่อนภาษีปี 2567 มีเงื่อนไขว่าเอกสารที่จะนำมาขอลดหย่อนได้ จะต้องอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

4. โครงการลดหย่อนภาษีปี 2567 กำหนดให้สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษี จะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารทุกรูปแบบ หรือเป็นสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้วเท่านั้น ในขณะที่โครงการช้อปดีมีคืนมีเงื่อนไขแบบเดียวกัน ยกเว้นแค่ไม่สามารถซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสารได้

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเองก็มีการกำหนดนโยบายที่ให้โอกาสบุคคลธรรมดาผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Easy e-Receipt 2567 หรือโครงการช้อปดีมีคืน 2566 ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้อย่างสูงสุด ก็คือผู้ที่ติดตามข่าวสารข้อมูลจากกรมสรรพากร หรือรัฐบาล ดังนั้นอย่าลืมหมั่นติดตามข่าวสารบ้านเมืองเพื่อไม่ให้พลาดทุกสิทธิพิเศษทางภาษีที่จะได้รับในอนาคตต่อไป